
โรคเหงือก ขูดหินปูน (Gum disease)
การรักษาโรคเหงือกและปริทันต์อักเสบ (Gum treatment/Periodontics)
โรคเหงือกและปริทันต์อักเสบคืออะไร?
โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเหงือก หากการติดเชื้อมีเฉพาะบริเวณเหงือกก็จะเรียกว่า โรคเหงือกอักเสบ แต่ถ้าหากลุกลามมากขึ้นไปยังอวัยวะเนื้อเยื่อรอบฟันอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น กระดูกเบ้าฟัน ก็จะเรียกว่าโรคปริทันต์อักเสบ โดยสังเกตได้จาก ลักษณะดังต่อไปนี้
• เลือดออกได้ง่าย เช่นในเวลาแปรงฟัน
• ขอบรอยต่อระหว่างเหงือกกับฟันมีลักษณะบวม หรือแดง หรืออาจกดเจ็บ
• เหงือกสามารถขยับแยกออกจากฟันได้
• ฟันโยก
• มีการเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงในการเคี้ยวอาหาร
• ความแน่นของฟันปลอมเปลี่ยนไป
• อาจมีกลิ่นปากร่วมด้วย

สาเหตุของโรคเหงือกและปริทันต์อักเสบ
เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นการรักษาหลักๆคือ การที่ผู้ป่วยสามารถดูแลความสะอาดของช่องปากได้ดีขึ้น ไม่ให้มีคราบจุลินทรีย์(plague)ซึ่งก็คือเศษอาหาร และกลุ่มก้อนแบคทีเรีย ติดอยู่ที่บริเวณผิวฟัน ซึ่งคราบเหล่านี้หากเกาะติดที่ผิวฟันเป็นเวลานาน ก็จะเริ่มมีการสะสมแร่ธาตุ ทำให้แข็งตัวขึ้น จนเกิดเป็นหินปูน ดังนั้นเพื่อทำความสะอาดให้หมดจด นอกจากการทำความสะอาดโดยการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธีเป็นประจำ จึงยังจำเป็นต้องมาพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือนเพื่อทำความสะอาดคราบหินปูน เนื่องจากหินปูนนั้นมีความสามารถในการเกาะผิวฟัน จนการแปรงฟันจึงไม่สามารถกำจัดคราบออกมาได้
ข้อสังเกตว่าเราสามารถแปรงฟันได้สะอาดหรือไม่ ในภายหลังการแปรงฟันอาจใช้ปลายหลอด หรือเพื่อความสะดวกอาจจะใช้เล็บนิ้วมือ(แต่ควรล้างมือให้สะอาดก่อน) ขูดที่บริเวณผิวฟัน โดยเฉพาะบริเวณใกล้ๆรอยต่อของขอบเหงือกและฟัน ว่ายังคงมีคราบจุลินทรีย์ หรือจะเรียกว่าขี้ฟัน หลงเหลืออยู่หรือไม่ ซึ่งถ้าหากยังหลงเหลืออยู่ก็ควรทำการแปรงฟันเพิ่มเติมเพื่อให้ช่องปาก และฟันสะอาดหมดจด
พฤติกรรมหรือปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคเหงือกและปริทันต์อักเสบ
• การสูบบุหรี่ หรือการเคี้ยวหรือใช้ยาสูบต่างๆ
• โรคประจำตัวบางชนิด เช่น เบาหวาน
• การรใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยากันชัก ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษาโรคมะเร็ง ยาคุมกำเนิด
• มีวัสดุอุด หรือบูรณะฟันต่างๆ ที่ปัจจุบันสภาพไม่เหมาะสมแล้วอยู่ในช่องปาก
• การตั้งครรภ์

การรักษาโรคเหงือกและปริทันต์
ก่อนอื่นทันตแพทย์จะทำการตรวจประเมินช่องปาก เพื่อวินิจฉัยโรคและความรุนแรงของโรค เนื่องจากโรคเหงือกและปริทันต์อักเสบนั้นมีความรุนแรงหลายระดับ ทำให้การรักษาจะเปลี่ยนไปตามความรุนแรง สำหรับการรักษาโรคเหงือกอักเสบทั่วๆไป การรักษาอาจอยู่เพียงแค่แนะนำการทำความสะอาดดูแลช่องปาก และการขูดหินปูน
แต่ในกรณีที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบยังอาจต้องมีการรักษาอื่นเพิ่มเติมอีกด้วย เช่น การเกลารากฟัน ซึ่งจะเป็นการเข้าไปขูดทำความสะอาดข้างใต้เหงือก เพื่อกำจัดหินปูนใต้เหงือก และทำผิวรากฟันให้เรียบ ลดการกลับมาเกาะซ้ำของหินปูน
นอกจากนั้นอาจจำเป็นต้องมีการรักษาขั้นต่อไปสำหรับกรณีที่มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการรักษาโดยการผ่าตัด ด้วยสาเหตุต่างๆที่เหมาะสมกับสภาพช่องปากและฟันของผู้ป่วยแต่ละคน อาจจะเป็นการผ่าตัดเพื่อเข้าไปทำความสะอาดในบริเวณที่มีร่องปริทันต์(ร่องที่อยู่ระหว่างเหงือกและฟัน)ลึกมากๆ ทำให้การขูดหินปูนและเกลารากฟันไม่เพียงพอในการทำความสะอาดให้หมดจด หรือการปลูกกระดูกต่างๆเพื่อการเตรียมช่องปากสำหรับการบูรณะฟันต่อไป
การดูแลช่องปากภายหลังการรักษา
การรักษาทั่วไปเช่น การขูดหินปูน เกลารากฟัน ผู้ป่วยสามารถแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันได้เป็นปกติ อาจมีอาการระบมบริเวณที่รักษาได้บ้างเล็กน้อย อาจใช้แปรงขนนุ่มและการแปรงฟันเบาๆ เพื่อทำความสะอาดช่องปากในบริเวณนั้น
ในบางครั้งภายหลังการรักษา โดยเฉพาะในกรณีที่มีการผ่าตัด อาจเจ็บบริเวณเหงือกที่ทำการรักษาได้ ทันตแพทย์จะเป็นผู้แนะนำและสั่งจ่ายน้ำยาฆ่าเชื้อบ้วนปากคลอเฮกซิดีนเพื่อช่วยในการทำความสะอาดบริเวณที่ผ่าตัด และสามารถรับประทานยาแก้ปวดที่ทันตแพทย์สั่งจ่ายได้ หากมีอาการปวดรุนแรง